Love, Respect, and Responsibility — A Symbiotic Relationship Between Humans and Nature

บทความนี้อุทิศให้แด่หัวใจอันแข็งกล้าแห่งขุนเขา
เรื่องเล่าของความสัมพันธ์ระหว่างชายหนึ่งคนที่พูดแทนต้นไม้ สายน้ำและสัตว์ป่า

ณ วันที่ 1 กันยา เสียงปืนดังสนั่นลั่นไปทั่วผืนป่าห้วยขาแข้ง วันที่สืบ นาคะเสถียรจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อหนึ่งชีวิตต้องดับไปเพื่อให้อีกหลายร้อยชีวิตรอดตาย และอีกหลายพันได้ตื่นตระหนัก

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัวเพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้” วาทกรรมของ “สืบ นาคะเสถียร” นักอนุรักษ์ธรรมชาติ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชายผู้อุทิศตนและจิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าและพิทักษ์ชีวิตสัตว์ป่าจวบจนลมหายใจสุดท้าย หัวใจที่ยืดหยัดอย่างแรงกล้าในการปกป้องแหล่งธรรมชาติ ผลักดันผืนป่าให้เป็นมรดกโลก คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน รวมถึงอพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน กว่า 1,364 ตัว และอีกหลากหลายโครงการที่สืบสละทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้สังคมได้ตื่นตัวตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของผืนป่าและเหล่าสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็นบ้าน หลังจากการจากไปของสืบ วันที่ 1 ก.ย. ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันรำลึกถึง “สืบ นาคะเสถียร” เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์แห่งจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

ป่าคือชีวิต คือบ้านของสัตว์ และเช่นเดียวกับมนุษย์ ป่าสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ เราไม่เพียงพึ่งพาธรรมชาติ แต่บางครั้งเราตักตวง หาผลประโยชน์จนเกินจำเป็น หนำซ้ำยังเบียดเบียน ทำให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งนับวันยิ่งมากขึ้น

“We used to look up in the sky and wonder at our place in the stars.
Now we just look down and worry about our place in the dirt.” — Interstellar 2014

เพราะไม่มีโลกใบที่สอง และถึงธรรมชาตินั้นจะยิ่งใหญ่เพียงใดแต่ก็มีวันที่จะหมดไป เมื่อนั้นสิ่งมีชีวิตอย่าง “มนุษย์” ก็จะไร้ซึ่งที่พึ่งพา และอาจสูญสิ้นโอกาสในการดำรงชีวิตต่อไป แม้วันนั้นอาจจะยังไม่มาถึงในยุคของเรา แต่มันจะมาถึงอย่างแน่นอนหากมนุษย์ยังคงละเลย และมองข้ามความสำคัญของธรรมชาติต่อไป

การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนและธรรมชาติ คือความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและในระบบนิเวศของสังคม และโลกใบนี้ หัวใจสำคัญคือการเริ่มตื่นตัวและลงมือทำจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น การแยกขยะ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน และอาจลองหากิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า เก็บขยะและนำมารีไซเคิล สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยซื้อเวลาให้กับพวกเราและคนรุ่นหลังให้ได้ยังคงพึ่งพาธรรมชาติในการใช้ชีวิต และเพื่อส่งต่อเจตนารมณ์แห่งจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ของ “สืบ นาคะเสถียร” ชายผู้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้เราได้ฟังเสียงเรียกร้องจากผืนป่า

ติดตามข้อมูลและข่าวสารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ที่ www.seub.or.th
เครดิตภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร